ประมวลกฎหมายอาญา |
---|
มาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท |
คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4548/2558 การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 334 ผู้กระทำจะต้องแย่งการครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น ในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์โดยเด็ดขาด โดยมีมูลเหตุชักจูงใจอันเป็นเจตนาพิเศษเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น แต่จากคำเบิกความของโจทก์ร่วมปรากฏว่า โจทก์ร่วมต้องการตัดไม้ยางเพื่อจะสร้างบ้านให้บุตรชายของตน แต่ไม่มีทุนจ้างคนเลื่อยไม้ โจทก์ร่วมไปปรึกษาจำเลยซึ่งเป็นข้าราชการ จำเลยรับดำเนินการขออนุญาตตัดไม้ยาง โดยมีข้อตกลงแบ่งไม้ยางที่ได้จากการตัดและแปรรูป แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดเนื่องจากยังไม่ทราบจำนวนไม้ยางที่แปรรูปแน่นอน และจำเลยนำสืบต่อสู้ว่า โจทก์ร่วมต้องการสร้างบ้านให้แก่บุตรชายของตนตรงบริเวณที่มีต้นยางปลูกอยู่จำนวน 2 ต้น แต่โจทก์ร่วมไม่สามารถขออนุญาตตัดไม้ยางได้ด้วยตนเอง โจทก์ร่วมจึงยกไม้ยางทั้งสองต้นให้แก่จำเลย โดยไม่เคยมีข้อตกลงแบ่งไม้ยางแปรรูปที่ได้จากการตัดแต่ประการใด ดังนั้น การที่จำเลยตัดต้นยางและชักลากไปแปรรูปในที่ดินของจำเลย ย่อมเป็นไปโดยอาศัยข้อตกลงระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยตามที่โจทก์ร่วมนำสืบ มิใช่เป็นการแย่งการครอบครองทรัพย์ของโจทก์ร่วม ในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมโดยเด็ดขาด โดยมีมูลเหตุชักจูงใจอันเป็นเจตนาพิเศษเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพียงแต่หลังจากที่จำเลยเข้าตัดต้นยางของโจทก์ร่วมแล้ว โจทก์ร่วมกับจำเลยต่างมีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับข้อตกลงในการแบ่งไม้ยางที่ได้จากการแปรรูปว่าเป็นประการใด อันเป็นข้อโต้แย้งสิทธิเรียกร้องในทางแพ่งระหว่างกันเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 483/2557 จำเลยเป็นพนักงานช่วยงานพยาบาลซึ่งทำงานในโรงพยาบาลที่เกิดเหตุ ห้องน้ำที่เกิดเหตุเป็นสถานที่ที่จำเลยต้องเข้าไปทำงานตามหน้าที่ และเหตุคดีนี้เกิดในช่วงเวลาที่จำเลยทำงาน กรณีจึงมิใช่เรื่องที่จำเลยเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วลักทรัพย์ในสถานที่ดังกล่าว การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 มิใช่ลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14258/2555 คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเข้าไปในบริเวณศาลาการเปรียญวัดหนองบัวอันเป็นสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วลักประตูเหล็กพับยืด 4 บาน ราคา 20,000 บาท ของวัดหนองบัว ซึ่งอยู่ในความดูแลของผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดหนองบัวผู้เสียหาย และเก็บรักษาไว้ในสถานที่ดังกล่าวไป โดยใช้รถจักรยานยนต์พ่วงข้างเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด หรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ซึ่งความผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะตาม ป.อ. มาตรา 335 (8) นอกจากองค์ประกอบความผิดที่ว่าสถานที่ที่ลักทรัพย์ต้องเป็นสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะแล้ว ผู้ที่เข้าไปลักทรัพย์ต้องเข้าในสถานที่ดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากการนำสืบของโจทก์ว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุลักทรัพย์วัดหนองบัวได้หวงห้ามหรือปิดกั้นมิให้ประชาชนซึ่งเข้าไปในวัดหนองบัวเข้าไปในบริเวณที่เกิดเหตุ การที่จำเลยเข้าไปลักประตูเหล็กพับยืดในบริเวณที่เกิดเหตุจึงมิใช่เป็นการเข้าไปลักทรัพย์ในสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะที่ตนได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (8) คงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 334
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513/2562 การที่ผู้เสียหายเบิกความว่า หลังจากส่งเงินให้จำเลยแล้ว จำเลยกอดปล้ำพยายามดึงกางเกง ผู้เสียหาย ผู้เสียหายกลัวจำเลยจะข่มขืนกระทำชำเรา จึงถอดสร้อยคอทองคำที่สวมให้จำเลยไปเอง โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยขู่เข็ญหรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อมุ่งประสงค์ต่อสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายแต่อย่างใด หากแต่ผู้เสียหายคิดว่า เมื่อจำเลยได้สร้อยคอทองคำแล้ว จะปล่อยตัวผู้เสียหายไป การที่จำเลยรับสร้อยคอทองคำไป จึงเป็นเจตนาทุจริตที่เกิดขึ้นภายหลัง การกระทำของจำเลยในส่วนนี้ไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 334 อีกกระทงหนึ่งแยกต่างหากจากฐานชิงทรัพย์เงิน 240 บาท เมื่อความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นความผิดที่รวมการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์อยู่ด้วย แม้โจทก์ฟ้องให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์เงินสดและสร้อยคอทองคำ แต่เมื่อพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์สร้อยคอทองคำ ศาลย่อมมีอำนาจปรับบทความผิดและบทลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา192 วรรคท้าย, 195 วรรคสอง, 225 แต่เนื่องจากโจทก์มิได้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์อีกกระทงได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มโทษ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบ 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 624/2553 การกระทำที่จะครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 นั้น จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริตแต่กรณีตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ ปรากฏว่าเงินจำนวนที่จำเลยทั้งสองเบิกถอนไปนั้นเป็นเงินที่อยู่ในบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 ที่ฝากไว้กับจำเลยทั้งสองเงินจำนวนดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์และอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับฝากย่อมมีสิทธิที่จะบริหารจัดการเงินฝากจำนวนดังกล่าวนั้นประการใดก็ได้ จำเลยทั้งสองคงมีหน้าที่เพียงต้องคืนเงินฝากตามจำนวนที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นลูกค้านำเข้าฝากไว้เท่านั้น โดยจำเลยทั้งสองไม่จำต้องส่งคืนเป็นเงินจำนวนอันเดียวกับที่ฝากไว้ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองเบิกถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 จึงมิใช่เป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองไป การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7819/2552 การกระทำที่จะครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 นั้น จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต แต่กรณีตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ปรากฏว่า เงินจำนวนที่จำเลยทั้งสองเบิกถอนไปเป็นเงินที่อยู่ในบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 ที่ฝากไว้กับจำเลยทั้งสองเงินจำนวนดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์และอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสองจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับฝากย่อมมีสิทธิที่จะบริหารจัดการเงินฝากจำนวนดังกล่าวนั้นประการใดก็ได้ จำเลยทั้งสองคงมีหน้าที่เพียงต้องคืนเงินฝากตามจำนวนที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นลูกค้านำเข้าฝากไว้เท่านั้น โดยจำเลยทั้งสองไม่จำต้องส่งคืนเป็นเงินจำนวนอันเดียวกับที่ฝากไว้ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองเบิกถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 จึงมิใช่เป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองไป การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้อง
|